หลายปีก่อน Jean Baudrillard นักปรัชญาฝรั่งเศส และ Umberto Eco นักปรัชญาอิตาลี นึกถึง “Disneyland” เมื่อใช้คำว่า “Hyperreality — ความจริงที่ไม่ได้มีต้นกำเนิดมาจากความจริง” เพราะไม่เคยมีใครเห็น Micky Mouse ตัวเป็นๆ มาก่อน จนกระทั่ง Micky Mouse มีอยู่จริงใน Disneyland มันจึงเป็นทั้ง “ของจริง” และ “ของปลอม” ในเวลาเดียวกัน (ที่แน่ๆ คือ มันทำเงินให้ Walt Disney)

ปัจจุบัน สังศิต (นักไม่เข้าใจโลก) ก็หลีกเลี่ยงการเปรียบเทียบ “Pokémon Go” กับ “Disneyland” ไม่ได้ เพราะมันพยายามหลอมรวมโลกจินตนาการ (ดิจิทัล) และโลกกายภาพไว้ด้วยกัน “ไม่มีใครเคยเห็น Pokémon ตัวเป็นๆ มาก่อน จนกระทั่งพวกมันมีอยู่จริงในที่ที่เราเห็นมัน” (ก่อนหน้านี้ก็มีเกม Second Life, The Sims, etc. ไว้สร้าง “ความจริงสำรอง” สำหรับมนุษย์ที่ต้องการมีชีวิตแบบอื่น แต่ก็ดำรงอยู่เฉพาะในโลกดิจิทัล) มันคือความสามารถในการเปลี่ยนจินตนาการของผู้คนให้เป็นสินค้า หรือแม้กระทั่งเงินตรา เมื่อไหร่ที่ผู้คนยอมรับ Pokémon Coin สำหรับซื้อขายสินค้ากายภาพได้แบบ Bitcoin มันคงเป็น Hyperreality ที่ล้ำหน้าไปอีกขั้น (และสังศิตก็คงจะหัดเล่น Pokémon Go ตอนนั้น) ตอนนี้มันแค่สร้างรายได้ให้บริษัทเจ้าของเกม (ถ้าเรายอมจ่ายเงินเพื่อแลกออพชั่นในจินตนาการนะ)

อันที่จริงไทยก็มี Hyperreality มากมาย ก่อน Pokémon Go หลายปีเลย (Baudrillard และ Eco คงสนุกแน่ๆ ถ้ามีโอกาสอยู่เมืองไทย) อย่างเช่น “บั้งไฟพญานาค” ที่ผู้คนเฝ้านับลูกไฟที่ลอยจากน้ำสู่ฟ้า ตราบใดที่มันยังเป็นเทศกาลที่สร้างรายได้ให้เศรษฐกิจท้องถิ่น ก็ไม่ต้องสนใจคำอธิบายอื่น นอกจากตำนานที่ผู้คนเชื่อและขายได้ (สังศิตสงสัยว่าคนฝั่งลาวเขาตื่นเต้นกันบ้างไหม?) เพราะจินตนาการเปลี่ยนเป็นสินค้าได้ คนที่พยายามพิสูจน์ความจริงจึงกลายเป็นศัตรูของสาธารณชนไป หรือแบบที่ใกล้ตัวกว่านั้นก็เช่น สติ๊กเกอร์ “รถคันนี้สีชมพู” ทั้งๆ ที่เราเห็นมันเป็นสีเขียวหรือสีอะไรก็ได้ แต่เทวดานางฟ้าหรือภูติผีปีศาจ (และหมอดู) ต้องการให้มันเป็นสีชมพู เราจึงต้องบังคับให้ตัวเองเชื่อว่ามันเป็นสีชมพู และแปะสติ๊กเกอร์ไว้ท้ายรถเพื่อบอกคนอื่นด้วยว่ามันคือสีชมพูจริงๆ นับเป็นนวัตกรรมที่แก้ปัญหาโชคลางและเศรษฐกิจแห่งยุคสมัย! เพราะคุณไม่จำเป็นต้องเสียเงินมากมายเพื่อเปลี่ยนสีรถทั้งคัน แค่ติดสติ๊กเกอร์ให้ถูกโฉลกตัวเองก็พอ (สังศิตก็อยากได้สติ๊กเกอร์ “คอมพิวเตอร์เครื่องนี้มี 128 คอร์” เหมือนกัน มันจะได้ทำงานเร็วขึ้น) หรือแม้แต่ประวัติศาตร์ไทยที่สอนกันในโรงเรียนก็เป็น Hyperreality ที่แต่งเติมจากพงศาวดารซึ่งไม่จำเป็นต้องได้รับการพิสูจน์ความน่าเชื่อถือ แต่ปัจจุบันมันยังขายจิตสำนึกแบบไพร่ฟ้าผู้ต่ำต้อยได้ เพราะผู้คนเชื่อว่ามันคือความจริงแบบเดียวที่ดำรงอยู่ (โอเค พอแค่นี้ก่อน เดี๋ยวจะกลายเป็นคนหนักแผ่นดิน)

ทั้งหมดที่ว่ามาไม่ได้ต้องการตัดสินคุณค่าของ “ของจริง” หรือ “ของปลอม” เพราะไม่มีประโยชน์ที่จะไปตัดสินสิ่งที่มนุษย์คนอื่นเชื่อ (นอกจากอยากจะชวนทะเลาะ) ถ้าเรายอมรับว่าความจริงเป็นสิ่งสัมพัทธ์ในโลกของแต่ละบุคคล “คำอธิบายความจริงอันเดียวกัน” ย่อมมีได้ไม่จำกัดรูปแบบ ขึ้นอยู่กับมุมที่เรามองเห็น “ความจริงของเรา” เพราะความสามารถในการรับรู้ของมนุษย์มีจำกัด เราตรวจสอบสิ่งเดียวกันจากทุกด้านไม่ได้ พูดง่ายๆ คือ เราคิดแทนคนอื่นไม่ได้ แต่การพยายามทำความเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นและดำรงอยู่ก็อาจช่วยให้เราไม่หมกมุ่นกับบางอย่างมากเกินไป แค่หาคำตอบว่าโลกทุกวันนี้ทำงานยังไงให้ตัวเองเข้าใจ โดยไม่บังคับให้คนอื่นคิดเหมือนเราก็พอ